การจัดองค์ประกอบภาพ (Composition)

      สำหรับการถ่ายภาพให้ได้ภาพที่ตรงตามความต้องการ มีคุณค่า มีความงามทางด้านศิลปะ นอกจาก จะทำความเข้าใจในเรื่องของการใช้กล้องถ่ายภาพ และเครื่องมือที่มีคุณภาพแล้ว การจัดองค์ประกอบภาพ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ที่จะทำให้ภาพมีคุณค่าขึ้น ดังนั้นเราจึงมาศึกษาการจัดองค์ประกอบภาพ ซึ่งในบทนี้ จะกล่าวถึงการจัดองค์ประกอบภาพอยู่ 10 ลักษณะ  คือ

  • รูปทรง  เป็นการจัดองค์ประกอบภาพที่ให้ความรู้สึก สง่างาม มั่นคง เหมาะสำหรับการถ่ายภาพ ทางสถาปัตยกรรม การถ่ายภาพวัตถุ หรือถ่ายภาพสิ่งต่างๆ เน้นให้เห็นความกว้าง ความสูง ความลึก โดยให้เห็นทั้งด้านหน้าและด้านข้าง และความลึก หรือที่เรียกว่าให้เห็น Perspective หรือภาพ 3 มิติ

ภาพที่ 1  ภาพตึกและอาคาร ถ่ายจากด้านข้างเน้นให้เห็น     
              ความมั่นคงใหญ่โต
ภาพที่ 2 หน้ากากผีตาโขน อ.ด่านซ้าย จ.เลย  เน้นให้เห็นระยะ
              ความลึก และรูปทรงของหน้ากาก
        • รูปร่างลักษณะ มีการจัดองค์ประกอบภาพตรงข้ามกับรูปทรง คือเน้นให้เห็นเป็นภาพ 2 มิติ คือ ความกว้างกับความยาว ไม่ให้เห็นรายละเอียดของภาพ หรือที่เรียกว่าภาพเงาดำ ภาพลักษณะนี้ เป็นภาพที่ดูแปลกตา น่าสนใจ ลึกลับ ให้อารมณ์และสร้างจินตนาการ ในการในการดูภาพได้ดีนิยมถ่ายภาพในลักษณะ ย้อนแสง         
                   ข้อควรระวังในการถ่ายภาพลักษณะนี้คือ วัตถุที่ถ่ายต้องมีความเรียบง่าย เด่นชัด สื่อความหมาย ได้ชัดเจน ฉากหลังต้องไม่มารบกวนทำให้ภาพนั้น หมดความงามไป
ภาพที่ 3 ชื่อภาพ เมือบ้าน (กลับบ้าน)  
            เป็นการถ่ายภาพย้อนแสงเพื่อให้เห็นเงาดำให้ดูแปลกตา
ภาพที่ 4 ชื่อภาพ ลอดเหลี่ยมไม้  
            เป็นการถ่ายภาพย้อนแสงให้เห็นลีลาของกิ่งไม้  
            และเน้นดวงอาทิตย์
ภาพที่ 5  ชื่อภาพ ผีตากผ้าอ้อม  
              เป็นการถ่ายภาพย้อนแสงเช่นกัน แต่รูปทรงต้นไม้ไม่
              สะดุดตาเพื่อใช้ประกอบโดยเน้นแสงแดดผีตากผ้าอ้อม
ภาพที่ 6  ชื่อภาพ สูงเสียดฟ้า ศรัทธาไปถึง  
              ภาพนี้เน้นให้เห็นรูปร่างของมหาเจดีย์ วัดธาตุ จ.ขอนแก่น
              ภาพดูน่าสนใจและไม่ให้เห็นรายละเอียดของฉากหน้าที่รก
        • ความสมดุลที่เท่ากัน  เป็นการจัดองค์ประกอบภาพเพื่อให้ภาพดูนิ่ง สง่างาม น่าศรัทธา คล้ายกับแบบเน้นด้วยรูปทรง แต่จะแสดงออกถึงความสมดุล นิ่ง ปลอดภัย ภาพลักษณะนี้อาจจะดูธรรมดา ไม่สะดุดตาเท่าใดนัก แต่ก็มีเสน่ห์และความงามในตัว
ภาพที่ 7  ภาพหอประชุมกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น
               ภาพมีความสมดุลย์เท่ากันสองข้าง มีความเด่นสง่า มั่นคง
ภาพที่ 8  ภาพอาคารเฉลิมพระเกียรติ สถาบันราชภัฏมหาสารคาม
              สมดุลย์ทั้งสองข้าง เด่นสง่า แข็งแรง มีฉากหน้าประกอบ
              เรื่องราวได้ดี
ภาพที่ 9  พระที่นั่งอนันตสมคม มีเสาสองข้าง ทำให้ภาพเด่นสง่า
               และแปลกตา น่าสนใจ
ภาพที่ 10  งานปฏิมากรรมริมบึงแก่นนคร จ.ขอนแก่น
                 จัดได้สมดุลย์และแปลกตา จนหลายคนต้องหันไปมอง
        • ความสมดุลที่ไม่เท่ากัน  การจัดภาพแบบนี้ จะให้ความรู้สึกที่สมดุลย์เช่นเดียวกับแบบที่แล้ว แต่จะต่างกันอยู่ที่ วัตถุทั้งสองข้าง มีขนาดและรูปร่างที่แตกต่างกัน แต่จะสมดุลได้ด้วยปัจจัยต่าง ๆ กัน เช่น สี  รูปทรง ท่าทาง  ฉากหน้า  ฉากหลัง ฯลฯ ภาพดูน่าสนในกว่าแบบสมดุลที่เท่ากัน แต่ความรู้สึกที่มั่นคงจะ น้อยกว่า แต่แปลกตาดี
ภาพที่ 11 เรือ 2 ลำ รูปร่าง มุมมอง แตกต่างกันแต่ดูสมดุลย์ได้เพราะ
                ส่วนประกอบของฉากหลังมาช่วย
ภาพที่ 12 คล้ายกับภาพที่ 11 โดยมีป้อมลอยน้ำมาเสริมน้ำหนัก
                ให้เรือลำที่อยู่ด้านหลังมีความสมดุลย์กับเรือลำแรก
ภาพที่ 13  ภาพเงาดำของต้นไม้ ข้างเดียว แต่มีดวงอาทิตย์มาเสริม
                 ให้ เกิดความสมดุลย์
ภาพที่ 14   พระพุทธรูปที่สุโขทัย  เสา และก้อนเมฆมาช่วย
                  ให้องค์พระกิดความสมดุลย์
        • ฉากหน้า  ส่วนใหญ่จะใช้ในการถ่ายภาพทิวทัศน์ หรือภาพอื่น ๆ ใช้ฉากหน้าเป็นตัวช่วยให้เกิดระยะ ใกล้ กลาง ไกล หรือมีมิติขึ้น ทำให้ภาพน่าสนใจอาจใช้กิ่งไม้ วัตถุ หรือสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้กับกล้องเพื่อช่วยเน้นให้จุดสนใจที่ต้องการเน้น มีความเด่นยิ่งขึ้น และไม่ให้ภาพมีช่องว่างเกินไป

                                 ข้อควรระวัง  อย่าให้ฉากหน้าเด่นจนแย่งความสนใจจากสิ่งที่ต้องการเน้น จะทำให้ภาพลดความงามลง

ภาพที่ 15   ทัศนียภาพ พระตำหนักดอยตุง ใช้ดอกไม้สีแดง
                   เป็นฉากหน้า ภาพจึงดูลึก มีระยะ
ภาพที่ 16   ภาพอาคารเป็นทิวยาว โดยใช้ไม้ประดับเป็นฉากหน้า
                  ทำให้ภาพไม่ว่างจนเกินไป
        • ฉากหลัง  พื้นหลังของภาพก็มีความสำคัญ หากเลือกที่น่าสนใจ กลมกลืน หรือช่วยให้สิ่งที่ต้องการ เน้นเด่นขึ้นมา ควรเลือกฉากหลังที่กลมกลืน ไม่ทำให้จุดเด่นของภาพด้อยลง หรือมารบกวนทำให้ภาพนั้นขาดความงามไป
ภาพที่ 17   ชื่อภาพ ความสดใสในป่าลึก
                  ใบไม้ธรรมดา ๆ แต่ฉากหลังสีดำสนิท (วัดแสงที่ใบไม้)
                  ทำให้ใบไม้ดูเด่นและมีคุณค่าขึ้น
ภาพที่ 18   ผีเสื้อและดอกไม้ เด่นขึ้นมาเพราะฉากหลังสีทึบ
                   และกลมกลืน มีสีเหลืองปนมาบ้าง ทำให้ภาพดูน่าสนใจ
                   และไม่จืดเกินไป
        • กฏสามส่วน  เป็นการจัดภาพที่นิยมมากที่สุด ภาพดูมีชีวิตชีวา ไม่จืดชืด การจัดภาพโดยใช้เส้นตรง 4 เส้นตัดกันในแนวตั้งและแนวนอน จะเกิดจุดตัด 4 จุด (ดังภาพที่ 19) หรือแบ่งเป็น 3 ส่วน ทั้งแนวตั้งและแนวนอน  การวางจุดสนใจของภาพจะเลือกวางใกล้ ๆ หรือ ตรงจุด 4 จุดนี้ จุดใดจุด  หนึ่ง โดยหันหน้าของวัตถุไปในทิศทางที่มีพื้นที่ว่างมากกว่า ทำให้ภาพดูเด่น ไม่อึดอัด ไม่แน่น หรือหลวมจนเกินไป นักถ่ายภาพทั้งมืออาชีพ และมือสมัครเล่นนิยมจัดภาพแบบนี้มาก
ภาพที่ 19  ภาพแสดงจุดตัด 4 จุด ควรวางจุดเด่นของภาพใกล้ ๆ
                  กับจุด 4 จุด ๆ ใด จุดหนึ่ง ทำให้ภาพน่ามองขึ้น
ภาพที่ 20   ปีกของแมงปออยู่ที่จุดล่างขวา เปิดระยะด้านหน้ามาก
                  ดูไม่อึดอัด และเป็นธรรมชาติ รู้สึกถึงความเคลื่อนไหว
ภาพที่ 21  ดวงอาทิตย์จะลับฟ้าที่ภูเก็ต อยู่ตำแหน่งบนซ้าย
                 ทำให้มีทิศทาง ทำให้ภาพมีความน่าสนใจขึ้น
                 มากกว่าวางกึ่งกลาง
ภาพที่ 22   ผีตาโขน ที่เมืองเลย วางจุดเด่นด้านบนขวา
                  ทำให้มีช่องว่างสำหรับทิศทางของสายตา
                  ทำให้ภาพมีเรื่องราวขึ้น
        • เส้นนำสายตา  เป็นการจัดภาพที่ใช้เส้นที่เกิดจากวัตถุ หรือสิ่ง อื่น ๆ ที่มีรูปร่างลักษณะใกล้เคียงกัน เรียงตัวกันเป็นทิศทางไปสู่จุดสนใจ ช่วยให้วัตถุที่ต้องการเน้นมีความ เด่นชัด และน่าสนใจยิ่งขึ้น
ภาพที่ 23   แม้องค์พระจะมีขนาดเล็ก แต่เสาเรียงตัว เป็นแนว
                  เดียวกันทั้งสองข้าง ทำให้ความสนใจพุ่งเข้าไปหา
                  องค์พระ ทำให้เด่นขึ้น
ภาพที่ 24   ธงทิว และไม้ประดับเรียงตัวกันพุ่งไปสู่โบสต์
                 ทำให้มีทิศทางบอกเรื่องราวได้อย่างดี
ภาพที่ 25   ฝายน้ำล้นที่ อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น มีแนวสันฝาย นำสายตา
                  ไปสู่กระแสน้ำ และโยงเข้าหากลุ่มคน ทำให้ภาพ
                   มีเรื่องราว สนุกดี
ภาพที่ 26   แนวหินประดับเป็นทางเดินคดเคี้ยวและอ่อนช้อย
                  นำไปสู่ล้อเกวียนและไล่ระดับไปหากิ้งก่า ทำให้ภาพ
                  น่ามองยิ่งขึ้น
        • เน้นด้วยกรอบภาพ  แม้ว่าภาพถ่ายจะสามารถนำมาประดับ ตกแต่งด้วยกรอบภาพอยู่แล้ว แต่การจัดให้ฉากหน้าหรือส่วนประกอบอื่นล้อมกรอบจุดเด่น เพื่อลดพื้นที่ว่าง หรือทำให้สายตาพุ่งสู่จุดสนใจนั้น ทำให้ภาพกระชับ น่าสนใจ
        •  
ภาพที่ 27 พระธาตุดอยสุเทพ ซึ่งอยู่ไกลทำให้มีขนาดเล็ก
                จึงใช้ชายคาบังส่วนที่ไม่จำเป็น ทำให้พระธาตุเด่นขึ้นมา
                    (พระธาตุดูเอียงเนื่องจากการใช้เลนส์มุมกว้าง)
ภาพที่ 28   ความนอนปลัก ภาพนี้คงดูโล่ง ๆ ถ้าไม่มีกอหญ้า
                  ล้อมควายไว้ ทำให้ภาพกระชับขึ้น และพระเอกเด่นขึ้น
        • เน้นรูปแบบซ้ำซ้อน   หรือแบบ Pattren เป็นการจัดภาพที่มีรูปร่าง ลักษณะ ที่คล้าย ๆ กันวางเป็นกลุ่มทำให้ภาพดูสนุก สดชื่น และมีเสน่ห์แปลกตา
ภาพที่ 29  ดอกคัตเตอร์สีขาว รวมกันเป็นกลุ่ม ตัดกับพื้นหลังสีดำ      ทำให้ภาพดูสนุก แปลกตา แม้ว่าจะไม่มีจุดเด่นก็ตาม ภาพที่ 30  เด็กนั่งฟังหมอลำ แสดงอาการสีหน้าท่าทางต่าง ๆ
                 ดูสดชื่น น่ามอง