ชนิดของกล้องถ่ายรูป

 

กล้องถ่ายรูปนับเป็นเครื่องมือสำคัญชิ้นหนึ่งที่มีวิวัฒนาการมาจากกล้องออบสคูร่า (Obscura) ที่มีลักษณะเป็นกล้องมืด (Dark room) และได้รับการพัฒนามาเรื่อย ๆ โดยผู้ที่มีความรู้ความชำนาญ เป็นต้นว่า ดาร์แก ทัลโบต บาร์แนก , ดันคัน อิสแมนต์ , แลนด์ และคนอื่น ๆ ซึ่งกล้องปัจจุบันนี้สามารถแบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ ดังนี้

1. กล้องบ๊อกซ์ (Box Camera)
          เป็นกล้องที่ไม่มีกลไกสลับซับซ้อน มีขนาดรูรับแสงคงที่ อาจเป็น 8 หรือ 11 อันใดอันหนึ่ง และมีความเร็วชัดเตอร์เดียวปกติประมาณ 1/60 กล้องชนิดนี้ให้ระยะชัดตั้งแต่ 6 ฟุตขึ้นไปจนถึงไกลที่สุด ฟิล์มที่ใช้กับกล้องชนิดนี้อาจเป็นฟิล์มขนาด 120, 127 และ 620 บางชนิดอาจใช้ฟิล์มขนาด 126 ก็ได้ อย่างไรก็ตามกล้องชนิดนี้ถ่ายรูปได้ดีในสภาพที่มีแสงเพียงพอ

2. กล้องพับ (Folding Camera)
          
เป็นกล้องที่มีห้องมืดชนิดพับระหว่างตัวกล้องกับเลนส์สามารถพับเก็บ หรือยืดออกมาได้นอกจากนั้นกล้องชนิดนี้ยังเพิ่มขนาดของรูรับแสงและสามารถปรับเปลี่ยนความเร็วของชัตเตอร์ได้หลายระดับมากยิ่งขึ้น และอาจใช้กับไฟแวบอีกด้วยฟิล์มที่ใช้อาจมีขนาดต่าง ๆ เช่น 120,127 และ 620 เป็นต้น

3. กล้องรีเฟล็กซ์ (Reflex Camera) กล้องชนิดนี้แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
        3.1 แบบเลนส์คู่ (Twin Lens Reflex) บางครั้งอาจเรียกว่ากล้อง TLR ซึ่งเคยได้รับความนิยมมากในสมัยก่อน กล้องชนิดนี้มีเลนส์ 2 ตัว เลนส์ตัวบนทำหน้าที่สะท้อนภาพเข้าสู่ช่องมองภาพซึ่งมีกระจกเป็นตัวสะท้อนทำให้ผู้ถ่ายรูป
มองเห็นวัตถุที่จะถ่ายได้ ส่วนเลนส์ตัวล่างทำหน้าที่รับแสงเพื่อส่องผ่านไปยังฟิล์ม กล้องรีเฟล์กซ์เลนส์คู่นี้ได้รวมเอาข้อดี ของกล้องใหญ่ (View Camera) และกล้องเรนจ์ไฟเดอร์ (Range finder) เข้าด้วยกันโดยเฉพาะสามารถที่มองภาพ จากบ้างบนกล้องได้โดยลดกล้องให้ต่ำลงแล้วก็มองภาพจากช่องมองได้สดวกสบาย อย่างไรก็ตามกล้องชนิดนี้ก็มีข้อเสีย กล่าวคือเนื่องจากใช้เลนส์ 2 ตัว ตั้งอยู่ในแนวดิ่งซึ่งกันและกัน
         ดังนั้นภาพที่มองเห็นจากเลนส์ตัวบนอาจจะไม่เหมือนกันเลยที่เดียวกับภาพที่ถ่าย ซึ่งเรียกว่าเกิดอาการผิดเพี้ยน จากการตัดส่วนของภาพ (Parallax) ยิ่งเป็นการถ่ายรูปใกล้ ๆ บางส่วนของภาพ จะถูกตัดออกไปแม้ว่าเวลามอง ที่ช่องมองภาพนั้นเป็นภาพสมบูรณ์ก็ตาม อีกประการหนึ่งภาพที่เห็นที่ช่องมองภาพจะกลับซ้ายเป็นขวาเสมอ นอกจากนี้ กล้องชนิดนี้ส่วนมากจะเปลี่ยนเลนส์ไม่ได้ จึงเป็นข้อเสียเปรียบเช่นกัน ฟิล์มที่ใช้อาจมีขนาด 120, 220 หรือ 35 มม . ได้

 3.2 แบบเลนส์เดี่ยว (Single Len Reflex) หรือเรียกว่า SLR ซึ่งเป็นที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน เพราะสะดวกและง่ายต่อการประกอบภาพ นอกจากนั้นมีอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ร่วมกันได้มากมาย กล้องชนิดนี้สามารถถอดเปลี่ยนเลนส์ได้ และไม่มีอาการผิดเพี้ยนจากการตัดส่วนภาพ (Parallax) เลย เพราะใช้เลนส์ตัวเดียวทำหน้าที่ทั้งมองภาพ หาระยะชัด และบันทึกภาพ อย่างไรก็ตามกล้องชนิดนี้ก็มีข้อเสียเปรียบ คือ อาจจะชำรุดได้ง่าย เพราะการกระดกขึ้นลง ของกระจก 45 องศา อีกประการหนึ่งเมื่อกดชัตเตอร์จะมีเสียงดังมาก อาจทำให้เกิดการรบกวนได้ โดยเฉพาะถ้านำไปถ่ายรูปสัตว์อาจทำให้เกิดการตื่นตระหนกตกใจได้ นอกจากนั้นเมื่อถ่ายรูปในที่ ๆ แสงมีน้อยอาจทำให้การมองภาพที่ช่องมองไม่ชัดเจนเพราะมีการสะท้อนหลายครั้งที่กระจก และปริซึ่มภายในตัวกล้องทำให้ความเข้ม ของแสงลดลงไปได้ กล้องรีเฟลกซ์เลนส์เดี่ยวส่วนมากใช้ระบบชัตเตอร์ม่านจึงทำให้ใช้ความเร็วของชัตเตอร์ได้สูงมาก การเปลี่ยนขนาดของรูรับแสง ก็มีมากฟิล์มที่ใช้กับกล้องชนิดนี้มีเบอร์ 135, 126, 120, 220 และ 110 ซึ่งสนองความต้องการของผู้ใช้ได้มาก

4. กล้องเล็ก (Miniature Camera) หรือ กล้องวิวไฟเดอร์ (View finder)
        กล้องชนิดนี้มีบางคนเรียกชื่อว่า เรนจ์ไฟเดอร์ (Range Finder) และบางคนเรียกว่า กล้อง 35 มม . มาตรฐาน (35 mm. Standard Camera) เพราะใช้กับฟิล์มขนาดมาตรฐานคือ 35 มม . กล้องชนิดนี้เหมาะที่สุด สำหรับนักถ่ายภาพสมัครเล่น เพราะออกแบบเพื่อให้สะดวกสบายในการจับถือ มีทั้งชนิดที่ต้องปรับแต่ง และไม่ปรับแต่งความชัด ความเร็วชัดเตอร์และขนาด ของรูรับแสงกล้องชนิดนี้มีลักษณะกระทัดรัดใช้ง่าย ราคาไม่แพงนัก อย่างไรก็ตามก็มีข้อเสียคือภาพถ่ายอาจเกิดอาการผิดเพี้ยนจากการตัดส่วนของภาพ (Parallax) ได้ถ้าถ่ายรูปใกล้กว่า 3 ฟุต เนื่องจากหน้าต่างหาระยะชัดของภาพตั้งอยู่คนละแห่งกับเลนส์คือจะอยู่เหนือเลนส์ถ่ายรูปเล็กน้อย ในปัจจุบันกล้องชนิดนี้ได้พัฒนา ให้เปลี่ยนเลนส์ได้ และมีอุปกรณ์อื่น ๆ ประกอบมากมายจึงทำให้มีผู้นิยมกล้องชนิดนี้อยู่พอสมควร

5. กล้องนักสืบหรือกล้องเล็กพิเศษ ( Ultra-Miniature Camera)
         เป็นกล้องที่มีน้ำหนักเบามาก กระทัดรัด มีขนาดเล็ก สามารถพกติดตัวไปได้สะดวกสบาย และสามารถแอบซ่อนเพื่อบันทึกภาพ ในกรณีที่ไม่ให้ผู้ถูกถ่ายรูปสังเกตได้กล้องชนิดนี้ ปรับหน้ากล้องโดยอัตโนมัติ มีไฟแวบพร้อมในตัวกล้องใช้ฟิล์ม 16 มม . และกลักเบอร์ 110

6. กล้องหนังสือพิมพ์ (Press Camera)
         เป็นกล้องที่ออกแบบใช้กับงานด้านหนังสือพิมพ์ ตัวกล้องมีขนาดใหญ่ ส่วนประกอบของกล้องคล้ายคลึงกับกล้องพับคือมีเบลโล (Bellow) สามารถปรับยืดย่นย่อได้ตามต้องการ ปกติกล้องชนิดนี้ ใช้กับฟิล์ม 120 หรือ ฟิล์มแผ่นขนาด 2 1/4 X 3 1/4 นิ้ว และ 4 X 5 เนื่องจากกล้องมีน้ำหนักมาก ดังนั้นนักข่าวหนังสือพิมพ์ และนิตยสารจึงหันมาใช้กล้องแบบสะท้อนเลนส์เดี่ยวแทนกล้องหนังสือพิมพ์ในปัจจุบัน

7. กล้องใหญ่ (Studio Camera)
         บางครั้งเรียกว่ากล้องวิว (View Camera) เป็นกล้องที่นิยมใช้ตามร้าน
ถ่ายรูปเพื่อธุรกิจการค้า กล้องชนิดนี้มีขนาดใหญ่โตมีน้ำหนักมากจึงไม่เหมาะที่จะนำไปใช้งานภายนอกห้องถ่ายรูปและในการ
ใช้กล้องจำเป็นต้องมีขาตั้ง (Tripod) รองรับตัวกล้อง ฟิล์มที่ใช้กับกล้องชนิดนี้เป็นฟิล์มแผ่นมีขนาดต่าง ๆ เช่น 2 X 3 นิ้ว 5 X 7 นิ้ว 8 X 10 นิ้ว และ 11 X 14 นิ้ว เมื่อถ่ายรูปเสร็จสามารถถอดฟิล์มออกได้ทันที ข้อดีของกล้องชนิดนี้คือจะไม่เกิด อาการผิดเพี้ยนจากการตัดส่วนของภาพ (Parallax) และยังสามารถมองเห็นภาพที่ช่องมองได้อย่างดี เพราะที่มองมีขนาดใหญ่ ทำให้เห็นรายละเอียดของภาพที่จะบันทึกนั้นได้ดีเนื่องจากมีกระจกขยายอันเป็นส่วนประกอบในช่องมองภาพ
          นอกจากนั้นยังสามารถปรับมุมของภาพได้ตามต้องการอย่างไรก็ตามกล้องชนิดนี้ก็มีข้อเสียเปรียบคือ ภาพที่เกิดขึ้นที่ช่องมองภาพนั้นจะมีลักษณะหัวกลับและกลับซ้ายขวา อีกทั้งภาพจะไม่ชัดเจนดังนั้นผู้ถ่ายรูปต้องใช้ผ้าสีดำ คลุมข้างหลังกล้องบนช่องมองภาพ และคลุมศีรษะผู้ใช้ให้สามารถมองภาพได้ชัดเจน ในขณะปรับความคมชัด

8. กล้องถ่ายรูปที่สร้างขึ้น เพื่อวัตถุประสงค์พิเศษ
         8.1 กล้องถ่ายรูปแบบสเตอริโอ (Stereo Camera) หรือเรียกว่ากล้องถ่ายรูปสามมิติ (Three Dimension Camera) เป็นกล้องที่ออกแบบ มาเพื่อถ่ายรูปสามมิติ ในตัวกล้องจะมีเลนส์ 2 ตัวเมื่อถ่ายรูปจะได้ 2 ภาพ ซึ่งภาพแรกเป็นภาพที่ตาข้างขวามองเห็น และภาพที่ 2 เป็นภาพที่ตาข้างซ้ายมองเห็น ดังนั้นภาพทั้งสองจึงมีความแตกต่างกันเล็กน้อยในเวลาที่ดูภาพลักษณะนี้ ต้องใช้เครื่องดูภาพพิเศษจึงจะทำให้เห็นภาพ 3 มิติได้อย่างชัดเจน
         8.2 กล้องถ่ายรูปโพลารอยด์ (Polaroid Camera) เป็นกล้องถ่ายรูปที่เมื่อถ่ายเสร็จจะได้ภาพทันที เพราะมีกระบวนการล้างอัดอยู่ในตัวฟิล์ม สร้างภาพภายในเวลาเพียง 2-3 นาทีเท่านั้น ภาพที่จะเป็นภาพโฟสิติฟ (Positive) กล้องชนิดนี้เหมาะในการใช้งานที่ต้องการความรวดเร็วรีบด่วน และเพื่องานบางอย่างเท่านั้น ข้อเสียก็คือ ฟิล์มที่ใช้กับกล้องชนิดนี้มีราคาค่อนข้างสูงและภาพที่ได้ไม่มีความคงทนเก็บไว้ได้ไม่นาน เหมือนขบวนการถ่ายรูปทั่ว ๆ ไป
        8.3 กล้องถ่ายรูปทางอากาศ (Aerial Camera) เป็นกล้องที่ออกแบบมาใช้งานเฉพาะ การถ่ายรูปทางอากาศเท่านั้น มีน้ำหนักมาก ใช้ติดตั้งกับเครื่องบิน หรือยานอวกาศเพื่อการถ่ายรูปสำรวจ หรือทำแผนที่ต่าง ๆ ส่วนประกอบของกล้องชนิดนี้ถูกออกแบบพิเศษมาเพื่อใช้งานเฉพาะจึงไม่สามารถที่จะนำมาใช้ในงานทั่ว ๆ ไปได้
        8.4 กล้องถ่ายรูปใต้น้ำ (Under Water Camera) เป็นกล้องที่ออกแบบมา เพื่อใช้ถ่ายรูปใต้น้ำโดยเฉพาะตัวกล้องบรรจุอยู่ในกล่องที่แข็งแรงกันน้ำเข้าและ ทนต่อแรงดันของน้ำการควบคุมเพื่อให้กล้องทำงานนั้น มีปุ่มควบคุมอยู่ภายนอกกล่องบรรจุ
        8.5 กล้องถ่ายรูปจากกล้องจุลทัศน์ (Photomicrographic Camera) เป็นกล้องที่ออกแบบพิเศษ สำหรับงานที่ต้องการถ่ายรูปขยายตั้งแต่ 30:1 ถึง 1000:1 ตัวกล้องจะต่อเข้ากับกล้องจุลทัศน์ สามารถถ่ายรูปได้ตามต้องการ
        8.6 กล้องรีโปร (Repro-Camera) เป็นกล้องที่ออกแบบเพื่อใช้กับงานการพิมพ์ เพื่อถ่ายรูปลายเส้น ภาพแยกสีและพวกฮาลัฟโทน ต่าง ๆ ซึ่งวัสดุต้นแบบอาจเป็น พวกภาพถ่าย หรือภาพวาดก็ได้หากแต่ต้องมีลักษณะเป็นแผ่นเรียบ
        8.7 กล้องถ่ายรูปความไวสูง (High Speed Camera) เป็นกล้องที่ออกแบบมาเพื่อใช้กับงานถ่ายรูปนิ่งที่ต้องการถ่ายวัตถุที่เคลื่อนที่อย่างเร็วมาก ซึ่งกล้องธรรมดาไม่สามารถถ่ายได้ กล้องชนิดนี้มีความไวของชัตเตอร์สูงมาก อาจใช้ถ่ายรูปลูกปืน หรือลูกธนูที่กำลังเข้าหาเป้าได้
        8.8 กล้องถ่ายรูปสำหรับผลิตภาพขนาดเล็ก (Microphotogra-phic Camera) เป็นกล้องถ่ายรูปที่ออกแบบมาเพื่อใช้ถ่ายรูปขนาดไม่เล็กกว่า 1/10 ของวัตถุต้นฉบับ ดังนั้นจึงเหมาะที่จะนำมาถ่ายรูปวาดวงจรอิเล็กโทรนิคและวงจรไฟฟ้าต่าง ๆ
        8.9 กล้องพาโนรามา (Panoramic Camera) เป็นกล้องที่ออกแบบ เพื่อถ่ายรูปที่มีมุมของวิวกว้างประมาณเกือบ 140 องศา โดยที่สัดส่วนของภาพ ที่ได้ไม่ผิดเพี้ยนเหมือนการใช้เลนส์ตาปลา กล้องชนิดนี้ นำมาใช้ถ่ายรูปหมู่ที่มีจำนวนคนมาก ๆ นั่งเรียงแถวกันซึ่งกล้องธรรมดาไม่สามารถบันทึกภาพ ให้มีสัดส่วนเหมือนจริงได้การทำงานของกล้องชนิดนี้มีเลนส์ที่หมุนรอบแนวดิ่ง โดยแสงจะผ่านเลนส์แล้วหักเหผ่านช่องแคบที่หมุนตามเลนส์ไปตกลงบนฟิล์ม ที่มีลักษณะโค้งอยู่ด้านหลังของกล้องทำให้การบันทึกภาพออกมาดูเป็นภาพที่มีลักษณะยาวในแนวระดับ
        8.10 กล้องถ่ายรูปแบบจาน (Disk) เป็นกล้องถ่ายรูปที่บันทึกภาพลงบนแผ่นแม่เหล็ก แทนการบันทึกลงบนฟิล์มถ่ายรูป เมื่อต้องการดูภาพก็สอดแผ่นแม่เหล็ก ลงในเครื่อง จะทำให้เห็นภาพบนจอโทรทัศน์ซึ่งเป็นภาพนิ่งและสามารถพิมพ์เป็นแผ่นได้ นอกจากนี้กล้องชนิดนี้ยังนำไปใช้กับการส่งภาพถ่ายเหตุการณ์ จากจุดหนึ่งเข้ายังโรงพิมพ์ เพื่อพิมพ์ภาพข่าวลงในหนังสือพิมพ์โดยส่งภาพไปตามสายโทรศัพท์ได้ ในปัจจุบันนี้ผู้ผลิตได้คิดค้นและออกแบบให้กล้องถ่ายรูป มีลักษณะการใช้ง่าย สะดวกสบาย และใช้ได้อย่างรวดเร็ว โดยผู้ใช้อาจไม่ต้องมีความรู้ในด้านการถ่ายภาพมากมายก็สามารถใช้กล้องได้อย่างดีบันทึกภาพได้
ตามต้องการและภาพมีคุณภาพ


         ดังนั้นกล้องจึงทำงานแบบอัตโนมัติในการปรับหน้ากล้องปรับระดับชัตเตอร์ตามสภาพของแสงที่ถ่าย เช่น กล้องโกดัก อินสตาเมติด (Kodak Instamatic) กล้องอักฟา แรบปิด (Agfa Rapid) Argus, Minox BL, Yashica Atoron และ อีกหลาย ๆ ยี่ท้อหรือให้ผู้ใช้ได้เลือกใช้ถ่ายรูปตามความต้องการกล้องอัตโนมัติบางชนิดสามารถบอกวัน เดือน ปี หรือ แม้กระทั่งเวลาในการบันทึกภาพนั้น ๆด้วยกล้องชนิดนี้เหมาะมากในการนำมาใช้เพื่อเก็บข้อมูลทางสังคมศาสตร์และ มนุษยศาสตร์ นอกจากจะบอกรายละเอียดต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วยังใช้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ถ้าแสงไม่พอที่จะพอ ที่จะถ่ายรูปก็สามารถเปิดไฟแฟลชได้โดยอัตโนมัติอีกด้วย
        ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีประเภทชิป (chip) มาใช้แทนฟิล์มถ่ายภาพและได้ภาพประเภทดิจิตอล (Digital) ที่สามารถโหลด (load) เข้าเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วพิมพ์ (print) หรือนำไปใช้กับงานสื่อประสม (Multimedia) อื่น ๆ ได้้